วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

วัฒนธรรมลาว "ฮีตสิบสอง"

ประชาชนลาวมีพื้นฐานวัฒนธรรมแสดงออกที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองไม่ว่าทางด้านวัตถุหรือทางด้านจิตใจคนลาวมีนิสัยใจคอโอบอ้อมอารี ใจบุญ ซื่อสัตย์ต่อเพื่อน มีหัวคิดในด้านศิลปะ ฮีตสิบสองเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของพื้นฐานวัฒนธรรมสังคมลาว จนถึงปัจจุบันนี้ ฮีตสิบสองในด้านดีมีหลายอย่างได้อบรมคนลาวให้เป็นคนรักสงบ มีนำใจสงสารผู้อื่น ฮีตสิบสองนั้นได้ปรากฏขึ้นก่อนสมัยเจ้าฟ้างุ่ม และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณได้วางฮีตสิบสองไว้ดังนี้

1.เดือนอ้าย - บุญเข้ากรรม
2.เดือนยี่ - บุญคูณลาน
3.เดือนสาม - บุญข้าวจี่
4.เดือนสี่ - บุญพระเวส
5.เดือนห้า - บุญสงกรานต์
6.เดือนหก - บุญบั้งไฟ
7.เดือนเจ็ด - บุญซำฮะ
8.เดือนแปด - บุญเข้าพรรษา
9.เดือนเก้า - บุญข้าวประดับดิน
10.เดือนสิบ - บุญข้าวสาก
11.เดือนสิบเอ็ด - บุญออกพรรษา
12.เดือนสิบสอง - บุญกฐิน

การทำบุญของคนลาวมีจุดประสงค์ เพื่อชำระความชั่ว (บาป)ออกจากตน เพื่อสร้างความดี(บุญ)ใส่ตน และพยายามทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ใสสะอาด การปฏิบัติโดยทำพิธีไหว้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การรักษาศีล 5 ฟังคำสั่งสอนจากพระสงฆ์
  

เที่ยวลาวเหนือ"หลวงพระบาง"

"หลวงพระบาง"

           หลวงพระบางเป็นเป็นเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านช้าง ตั้งแต่สมัยสถาปนาอาณาจักรซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่าเมืองชวา และเมื่อ พ.ศ. 1300 ขุนลอ ซึ่งถือเป็น ปฐมกษัตริย์ลาวได้ทรงตั้งเมือง ชวาเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้าง และได้เปลี่ยน ชื่อเมืองใหม่ว่า เชียงทอง
อีกตำนานหนึ่งมาจาก ตรงคุ้มน้ำคาน มต้นเชียงทอง หรือต้นงิ้ว ขนาดใหญ่ หลายคนโอบ คาดว่าในสมันก่อนย่าน นี้น่าจะมี ต้นเชียงทองจำนวนมาก จริงเป็นชื่อของเมือง เชียงทอง
เมื่อเจ้าฟ้างุ้มเสด็จ กลับจากกัมพูชา อันเนื่องจากพระองค์และพระบิดาต้อง เสด็จลี้ภัยเพราะถูกขับไล่จากกษัตริย์องค์ก่อน ซึ่งแท้จริงก็คือพระอัยกาของเจ้าฟ้างุ้มนั่นเอง เจ้าฟ้างุ้มทรงรวบรวมกำลังขณะอยู่ในเสียมเรียบ และนำกองทัพนับพันกำลังเพื่อกู้ ราชบัลลังก์กลับคืน และสถาปนาอาณาจักรขึ้น
ต่อมาในสมัยพระโพธิสารราชเจ้าพระองค์ได้อาราธนาพระบางซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงคำ ขึ้นมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวง เมืองเชียงทองจึงถูกเรียกว่าหลวงพระบางนับแต่นั้นมา

เมืองมรดกโลก
             หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกด้วยเหตุผล คือ มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม และชาวหลวงพระบางมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม

วัดเชียงทอง
    

วัดเชียงทอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2102 –2103 สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในบรรดาวัดวาอารามทั้งหมดต้องยกให้วัดเชียงทองเป็นวัดที่สำคัญและสวยงามที่สุด และได้รับการมาเยี่ยมเยือนจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด "นักโบราณคดียกย่องว่าวัดเชียงทองเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว"
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองหลวงพระบาง ใกล้บริเวณที่แม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง มีถนนเล็กๆชื่อถนนโพธิสารราช ริมน้ำโขงคั่นอยู่ วัดเชียงทองสร้างขึ้นก่อนหน้าที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทน์ไม่นานนัก และยังได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้ามหาชาติศรีสว่างวงศ์ และเจ้ามหาชาติศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของประเทศลาว

วรรณกรรมสะท้อน"สังคมลาว"

        ประเทศลาวเป็นสังคมที่ดำรงชีวิตที่เรียบง่าย  ชอบสงบสุข  ส่วนมากอาศัยอยู่ตามขนบท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมหลายเรื่องสะท้อนให้เห็นประวัติความเป็นมา  การดำรงชีวิต เอกลักษณ์ ภาษา สังคม และที่สำคัญคือขนบธรรมเนียมประเพณีที่สะท้อนผ่านวรรณกรรม เช่น  สังศิลป์ชัย  เสียวสวาท กาพย์เมืองพวน  ท้าวฮุ่งท้าวเจือง  การเกษ  นางแตงอ่อน  พื้นเวียง  พระเวสสันดร  มโหสต   เป็นต้น 
         วรรณกรรมที่เด่นชัดในประเทศลาว คือ เรื่องสังศิลป์ชัย  เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงสังคมลาว ความกล้าหาญของศิลป์ชัย ที่สามารถปราบศัตรู ได้รับชัยชนะมาสู่บ้านเมือง
        
เรื่องย่อของสังข์ศิลป์ชัย
          มีอยู่ว่า พระยากุสราชเจ้าแผ่นดินเมืองเป็งจาล มีมเหสีชื่อนางจันทา พระยากุสราชมีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ นางสุมนทา ต่อมามียักษ์ชื่อ กุมภัณฑ์ มาลักเอาตัวนางสุมนทาขณะที่ชมสวนไม้อยู่ ไปเป็นเมียมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง
          พระยากุสราช คิดถึงน้องสาวเป็นอันมาก จึงออกบวชแล้วไปตามหาน้องสาวจนถึงเมืองจำปา ได้เห็นลูกสาว 7 คนของนันทเศรษฐี เมืองจำปา มาใส่บาตรก็เกิดความรักจึงลาสิกขา แล้วแต่งอำมาตย์ไปขอนางทั้ง 7 มาเป็นมเหสี
          ต่อมามเหสีทั้งแปดก็เกิดมีครรถ์ โหรได้ทำนายว่าลูกของนางจันทา มเหสีองค์แรกและลูกของลางลุน ซึ่งเป็นมเหสีองค์สุดท้องในจำนวนนั้นจะเป็นคนดี ส่วนลูกของพี่สาวทั้งหกของนางลุนจะเป็นคนชั่ว ทำให้มเหสีที่สาวทั้งหกคนมีความเคียดแค้น จึงจ้างวานให้โหรกลับคำนายใหม่ และทำเสน่ห์ยาแฝดให้พระยากุสราชหลงนางทั้งหกและเกลียดชังนางจันทาและนางลุน
           ครั้งถึงวันคลอด ลูกของนางจันทาเป็นคชสีห์ ชื่อได้ชื่อว่า สีโห(ฉบับภาษาไทยคือสิงหรา) ลูกของนางลุนมีสองคนคนพี่เป็นคนถือดาบกับธนูศิลป์ออกมาด้วย จึงได้ชื่อว่า ศิลป์ชัย ส่วนน้องเป็นหอยสังข์ จึงชื่อว่า สังขาระกุมาร หรือ สังข์ทอง ท้าวกุสราชเชื่อฟังคำทำนายของโหรอสัตย์จึงขับไล่นางทั้งสองพร้อมด้วยลูกออกจากเมือง นางจันทาและนางลุน จึงออกเดินป่า อาสัญผลไม้เป็นเครื่องยังชีพ จนเดือนเศษ พระอินทร์ จึงเนรมิตปราสาทให้ ทั้งห้าคนไดอยู่ในปราสาทนั้นเป็นเวลาถึง 7 ปี
            พระยากุสราชคิดถึงน้องสาวไม่ลืม จึงให้ลูกชายทั้งหกออกตามหานางสุมนทา คนทั้งหกเดินทางหลงป่าไปพบศิลป์ชัย จึงโกหกว่าพ่อใช้ให้ศิลป์ชัยไปตามหาอาศิลป์ชัยหลงเชื่อจึงไปกับคนทั้งคน ต้องเผชิญกับสัตว์ร้าย ศิลป์ชัยสามารถปราบสัตว์ร้ายได้เพราะมีฤทธิ์ พอไปถึงแม่น้ำกว้างหนึ่งโยชน์พี่น้องทั้งหกไม่ข้ามไปด้วยเพราะกลัว ศิลป์ชัยจึงให้คอยอยู่ ณ ที่นั้นโดยให้สีโหเป็นผู้คอยระวังภัยให้ศิลป์ชัยกับสังข์ทองก็เดินข้ามทางต่อไป เผชิญกับภยันตรายต่างๆ ทั้งสัตว์ร้าย ยักษ์ฯลฯ
              จากนั้นก็ไปถึงเมืองยักษ์สามารถฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ได้และไปตามลูกสาวของอากลับมาจากเมืองนาค เมื่อกลับมาถึงที่พี่น้องทั้งหกรออยู่ พี่น้องทั้งหกมีความอิจฉาจึงออกอุบายชวนไปอาบน้ำ แล้วผลักตกเหว แต่ศิลป์ชัยรอดตายเพราะพระอินทร์มาช่วยไว้แล้วนำตัวไปส่งแม่ ส่วนพี่น้องทั้งหกคนนั้นก็กลับมาโกหกอาว่าศิลป์ชัยตกน้ำตาย นางสุมนทาไม่เชื่อจึงเอาไม้ซ้องปิ่นเกล้าและสไบแขวนเสี่ยงทายไว้หากศิลป์ชัยตาย ขอให้ของเหล่านั้นสูญหาย หากไม่ตายก็ขอให้มีคนนำของไปส่งคืนที่เมืองเป็งจา
พี่น้องทั้งหกเมื่อไปถึงเมืองเป็งจาก็ไปทูลพระยากุสราชเอาความดีความชอบต่าง ๆ แม้นางสุมนทาจะทูลว่าผู้ที่ช่วยเหลือตนกลับมาคือ ศิลป์ชัย พระยากุสราชก็หาเชื่อไม่ ต่อมามีพ่อค้าที่เป็นนายสำเภาเอาสิ่งของเหล่านั้นไปส่งให้ที่เมือง นางสุมนทาจึงรู้ว่าหลานชายยังไม่ตาย ต่อมาเมื่อพระยากุสราชรู้ความจริงจึงสั่งให้ลูกชายทั้งหกไปขังคุกแล้วเชิญ ศิลป์ชัย มาขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินแทนตน[2]



"ลาว"และ"พระธาตุหลวง"


    "พระธาตุหลวง"
 พระธาตุหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประตูชัย พระธาตุหลวงแห่งนี้ถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศลาว เป็นสัญญาลักษณ์ประจำชาติและยังแทนความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศลาวอีกด้วย พระธาตุนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 พระธาตุองค์นี้มีรูปทรงที่ไม่เหมือนกับองค์อื่นๆ เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนากับสถาปัตยกรรมของอาณาจักรตามตำนานเล่าว่า พระธาตุองค์นี้ได้สร้างในสมัยพุทธศักราชที่ 236 โดยมีพระภิกษุลาวจำนวน 5 รูปเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และได้อันเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้ามายังนครเวียงจันทน์ด้วย ต่อมาด้ำกราบทูลพระยาจันทบุรีประสิทธิ์ศักดิ์ เจ้านครเวียงจันทน์ในสมัยนั้น ให้สร้างพระธาตุหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเพื่อให้ชาวลาวได้กราบไหว้ กล่าวไว้ว่า พระธาตุองค์เดิมนั้นสร้างด้วยหินเป็นทรงโอคว่ำ มีการก่อกำแพงล้อมรอบเอาไว้ทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีความกว้าง 10 เมตร หนา 4 เมตร และสูง 9 เมตร เชื่อกันว่าพระธาตุที่เห็นในปัจจุบันสร้างครอบองค์เดิม ซึ่งต่อมาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านช้างจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ตามดำริของพระราชบิดา คือพระเจ้าโพธิสาร จากนั้นทรงมีพระบัญชา ให้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ ณ บริเวณที่เคยเป็นเทวสถานเก่าของขอมโดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2109 และหลังจากสร้างพระธาตุหลวงได้โปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นล้อมรอบพระธาตุไว้ทั้งสี่ทิศด้วย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่งด้วยกันคือ วัดพระธาตุหลวงเหนือและวัดพระธาตุหลวงใต้
       ในปัจจุบัน พระธาตุหลวงมีลักษณะคล้ายป้อมปราการ เพราะมีการสร้างระเบียงสูงใหญ่ขึ้นโอบล้อมรอบองค์พระธาตุไว้ พร้อมกับทำช่องหน้าต่างเล็กๆเอาไว้โดยตลอด สำหรับประตูทางเข้านั้นเป็นประตูไม้บานใหญ่ ลงรักสีแดงไว้ทั้งหมด นอกจากนี้รอบๆองค์พระธาตุใหญ่ยังมีเจดีย์บริวารล้อมรอบอยู่โดยรอบอีหลายองค์ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็จะเห็นสัญลักษณ์หนึ่งแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาแห่งนี้ปรากฏอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแกะสลักพญานาค พระพุทธรูปปิดทองลายกลีบบัวประดับอยู่บนฐานปักษ์ และถัดจากประตูทางเข้าใหญ่ประมาณ 100 เมตรจะแลเห็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา เล่ากันว่า พระแสงดาบเล่มนี้ทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวงซึ่งได้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน


ประเพณีบุญนมัสการพระธาตุหลวง

      ประเพณีบุญนมัสการพระธาตุหลวงนี้ ได้ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยมีพระมหากษัตริย์องค์เป็นประมุขของชาติทรงเป็นประทาน จึงนับว่าบุญนมัสการพระธาตุหลวงนี้เป็นบุญของหลวง ในวัน ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ตอนบ่ายประชาชนทุกภาคส่วน มารวมกันที่ วัดศรีสัตนาค เพื่อแห่ปราสาทผึ้ง และต้นกัลปพกฤษ์ ไปทอดถวายที่วัดศรีเมืองตอนค่ำมีงานมหรสมโภชน์ตลอดทั้งคืน วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ตอนเช้า ทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัธสัจจาอยู่สิมวัดองตื้อ ผู้ที่เข้ารับน้ำสาบาน มีตั้งแต่ระดับหัวหน้าขึ้นไป ถึงคณะรัฐมนตรีของประเทศลาว ตอนบ่าย 2 โมง ประชาชนทุกภาคส่วนตั้งขบวนแห่ปราสาทผึ้ง และต้นกัลปพฤกษ์ ออกไปธาตุหลวง เวลาบ่าย 3 โมง ประมุขรัฐ และเจ้านาย ทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกไปสู่พระธาตุหลวง เพื่อเป็นเกียรติแห่ปราสาทผึ้งเดินรอบบริเวณพระธาตุหลวงร่วมกับประชาชนที่มาจากทั่วสารทิศ เมื่อเวียนครบ 3 รอบแล้วก็ทำพิธีถวาย ถึงเวลากลางคืนก็มีงานมหรสพสมโภช วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรในบริเวณพระธาตุ แล้วฟังพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ตอนกลางคืนมีงานฉลองเป็นวันสุดท้าย วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 เสร็จงานจากพระธาตุหลวงแล้ว ก็มีการแห่ปราสาทผึ้งมาถวายที่วัดองค์ตื้อ และวัดอินแปง อีกจึงจะถืองานนมัสการพระธาตุหลวงเสร็จสิ้นสมบูรณ์

       เมื่อกล่าวถึงพระธาตุหลวงทุกคนก็จะนึกถึงประเทศลาว  ซึ่งเป็นพระธาตุประจำคู่บ้านคู่เมืองในลาว  ประชาชนทุกคนต่างก็มาสักการะบูชาทั้งในลาวและต่างประเทศเมื่อมาเที่ยวประเทศลาว